ชีวิตของราชินี ของ ม็อดแห่งเวลส์ สมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าโฮกุนที่ 7 และพระราชินีม็อด ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1906

ด้วยเหตุที่เจ้าหญิงม็อดเป็นพระราชธิดาในองค์พระประมุขครองบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักร เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของรัฐสภานอร์เวย์ในการมอบราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายคาร์ลในปี ค.ศ. 1905 เมื่อเจ้าชายทรงยอมรับเจ้าหญิงม็อดจึงทรงเป็นสมเด็จพระราชินีมเหสีแห่งนอร์เวย์พระองค์แรกหลังการแยกออกมาจากการรวมกับประเทศสวีเดน

สมเด็จพระราชินีม็อดทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายอยู่นอกสายตาสื่อมวลชน พระองค์มีพระราชภารกิจด้านสังคมและวัฒนธรรมและทรงอุทิศพระองค์ให้กับเรื่องของการกุศลต่างๆ ด้วย ในปี ค.ศ. 1914 พระองค์มีพระดำริให้ตั้งกองทุนภายใต้พระนามเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรในสภาวะยากลำบากหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1

พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่เก็บพระองค์ ในสาธารณชนพระองค์จะรู้สึกประหม่าอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อทรงเป็นส่วนพระองค์ ก็จะทรงมีความอบอุ่นและมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังทรงเกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูมกุฎราชกุมารโอลาฟ พระโอรส และทรงพยายามทำให้เหมือนเด็กชายชาวนอร์เวย์โดยทั่วไป แม้ว่าตัวพระองค์เองจะไม่เคยตรัสภาษานอร์เวย์อย่างคล่องแคล่วเลยก็ตาม

สมเด็จพระราชินีม็อดไม่ทรงเคยหมดรักในประเทศอังกฤษ แต่ก็ทรงสามารถปรับตัวเข้ากับประเทศใหม่และพระราชกรณียกิจฐานะพระมเหสีได้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงสนับสนุนองค์กรการกุศลมากมาย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสัตว์ และยังได้ทรงสนับสนุนนักดนตรีและศิลปินอีกด้วย นอกจากนี้ยังทรงเรียนการเล่นสกีและจัดสวนแบบอังกฤษในพระตำหนัก Kongsseteren ซึ่งเป็นพระตำหนักหลวงที่มองเห็นทัศนียภาพของกรุงออสโลอย่างชัดเจน การปรากฏพระองค์ครั้งสุดท้ายในอังกฤษของพระองค์คือ การเสด็จร่วมพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระนัดดาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1937 โดยทรงประทับบนพลับพลาในมหาวิหารเวสต์มินส์เตอร์ถัดจากสมเด็จพระราชินีแมรี่ และเจ้าหญิงพระวรราชกุมารี เค้านท์เตสแห่งแฮร์วูด

พระองค์ยังทรงมีกิตติศัพท์ในเรื่องการฉลองพระองค์ด้วยรูปแบบที่นำสมัย นิทรรศการผลงานชิ้นต่างๆ จากอาภรณ์อันงดงามของพระองค์ได้จัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียและอัลเบิร์ตในปี ค.ศ. 2005